The Lines Behind BTS

The Lines Behind BTS Hate Train : เป็นเรื่องเท่ที่จะปฏิเสธบอยแบนด์เกาหลีใต้

The Lines Behind BTS Hate Train : เป็นเรื่องเท่ที่จะปฏิเสธบอยแบนด์เกาหลีใต้

The Lines Behind BTSวงดนตรีที่โด่งดังที่สุด ณ ชั่วโมงนี้เป็นทั้งที่รักและที่เกลียดชังของคนจำนวนมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งใดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขามาไกลกว่าที่ใครเคยประเมินไว้”

“เป็นบังทัน = ผิด”

J-Hope หนึ่งในสมาชิกสายแร็พของ BTS (Bangtan Sonyeondan) เหน็บแหนมทัศนคติของสาธารณะชนที่มีต่อวงในบทเพลง “땡” (Ddaeng หรือ “ผิด” ในภาษาไทย) ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น diss track หรือเพลงด่าในวงการฮิปฮ็อป แม้แทบทุกเพลงของวงได้ผ่านขั้นตอนการแต่งและโปรดิวซ์โดยสมาชิกของวงเอง บอยแบนด์ 7 หนุ่มจากประเทศเกาหลีใต้ยังต้องพบคำครหาในแง่ความเป็นศิลปินจากทั่วสารทิศอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นทั้งในวงการเพลงเกาหลีหรือสากล ดังนั้นจึงไม่ผิดนักที่แม้จะตั้งวงมากว่า 8 ปีแล้วพวกเขาจะยังมองตัวเองเป็นคนชายขอบของอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันที่ไม่มีเส้นแบ่งของแนวงานศิลปะชัดเจนนั้น ตลาดดนตรีได้เป็นสักขีพยานต่อปรากฏการณ์ศิลปินผู้ขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของตนออกไปยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Taylor Swift ที่เริ่มต้นอาชีพด้วยแนวคันทรี่ และกลายเป็นป็อปสตาร์ก่อนจะเริ่มเบนจากกระแสหลัก ไปทางอินดี้โฟล์กด้วยการร่วมงานกับ Justin Vernon (Bon Iver) และ Aaron Dessner (The National) ในอัลบั้ม Folklore และ Evermore หรือ Glass Animals ที่เติบโตจากการเป็นวงอินดี้ร็อกอ็อกซ์ฟอร์ดไปสู่แนวป็อปมากขึ้นจนไปสู่งานดนตรีกระแสหลักอเมริกาอย่าง Billboard Music Awards ได้

เราอาจเห็นศิลปินเหล่านั้น มีผู้ติดตามใหม่มากขึ้นหรือแฟนเพลงรุ่นตั้งไข่น้อย ลงตามแนวเพลงที่เปลี่ยนไป แต่คงไม่มีอะไรเรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ไปมากกว่าการเป็นพันธมิตรวงดนตรีเคป็อปอย่างที่ Coldplay โดนจากแฟนรุ่นเก่าขาร็อกที่ตราหน้าว่าพวกเขา “ขายวิญญาณ” เมื่อประกาศร่วมงานกับ BTS ในเพลง “My Universe”

เพียงบทเพลงเดียวสำหรับสตูดิโออัลบั้มที่ 9 ของวง แน่นอนว่าความยาว 5 นาทีของเพลงดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนความเป็น Coldplay ที่สมาชิกทั้ง 4 แสดงมาตลอดอาชีพแม้แต่นิด ผลงานไม่ว่ายุคใดก็ย่อมบอกอัตลักษณ์ของผู้สร้าง ณ ขณะนั้น อย่างไรก็ดีเมื่อเห็นว่าแนวของศิลปะเปลี่ยนไป นั่นหมายถึงศิลปินกำลังพนันกับสู่อาณาเขตแห่งใหม่ซึ่งหมายถึงความท้าทายใหม่ ๆ ของพวกเขาเช่นเดียวกัน และหนึ่งในเดิมพันนั้นคือความไม่พอใจของแฟนเพลงรุ่นเก่านั่นเอง

The Lines Behind BTS : “มีอีกกว่าร้อยตัวตนในตัวผม วันนี้ผมก็คือผมคนใหม่ อย่างไรทั้งหมดนี้ก็คือตัวผมเอง”

เช่นเดียวกับ Coldplay และนักร้องนักดนตรีอีกกว่านับไม่ถ้วนทั่วโลก BTS เลือกที่จะก้าวข้ามการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วตอบสนองความกระหายทางดนตรีของตัวเองแทนที่จะรับฟังความต้องการของคนอื่น Jung Kook ร้องในเพลงแดนซ์ป็อป “Idol” ถึงความเป็นศิลปินอันไม่จำเจ

พวกเขาเริ่มก้าวแรกในอุตสาหกรรมเพลงด้วยความเป็นลูกผสมระหว่างแร็ปเปอร์และไอดอลเคป็อป นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม BTS ในยุคแรกถึงแทบจะเรียกได้ว่าไม่เป็นที่ต้อนรับของทั้งสองวงการ แร็ปเปอร์มองว่า RM และ Suga นั้นทรยศต่อแนวเพลงใต้ดิน ส่วนสมาชิกที่เหลืออย่าง J-hope ที่ไม่มีพื้นหลังจากวงการแร็ปและ Jin, Jimin, V, Jung Kook สมาชิกสายร้องผู้ไม่ได้ขายภาพลักษณ์เด็ก (หรือแฟน) หนุ่มสมบูรณ์แบบอย่างที่ตลาดหลักคาดหวังไว้ ถูกมองว่าไม่เข้ากับอุตสาหกรรมไอดอล สองปีแรกในฐานะนักร้อง คือการประสบกับคำหมิ่นประมาทต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่ากลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทุกคนในวันนี้

“มึงเกลียดกูแต่ก็รู้จักกู” ความในใจที่ถูกสาดใส่ในเพลงที่บรรจงเขียนอย่างตั้งใจ

RM ลีดเดอร์วัย 27 ของวงเยาะเหล่านักเลงคีย์บอร์ดในเพลง “BTS Cypher Pt. 4” ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ “BTS Cypher” หรือเพลงด่าของสมาชิกสายแร็ป แม้เพลงนี้จะออกมาในปี 2017 ที่ BTS ยังไม่ได้บุกตลาดตะวันตกอย่างดีนัก พวกเขาก็เริ่มกลายเป็นศิลปินในกระแสและทุกพยางค์ในเพลงนี้ยังคงเป็นความจริงจนถึงปัจจุบัน สมาชิกของ BTS ทุกคนต่างต้องต่อสู้กับกำแพงอคติต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับรับมือชื่อเสียงของวงที่ดูเหมือนจะมาพร้อมกับความกดดันจากสาธารณะขึ้นเรื่อย ๆ (และสิ่งหลังนั้นเองเกือบทำให้สมาชิกตัดสินใจยุติบทบาทของวงลงในปี 2018 มาแล้ว)

แม้ความนิยมจะเพิ่มขึ้น พวกเขาต้องหาทางจัดการกับความเกลียดชังที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“เห็นกระเป๋าผมมั้ยล่ะ? มีรางวัลอยู่ในนั้นเต็มไปหมด”

ท่อนฮุกในเพลง “Mic Drop” ได้ตอกหน้าเหล่าแอนตี้แฟนอีกครั้ง ด้วยชื่อเสียงและฐานแฟนคลับที่ขยายขึ้นในวงกว้าง อาจจะสันนิษฐานได้ว่าบางคนใช้ประโยชน์จากชื่อ BTS เพื่อเรียกเรตติ้ง อย่างไรก็ดีภายใต้ความนิยมอันล้นหลามในวันนี้อาจมีที่มาจากกว่า 200 เพลงที่ BTS ปล่อยมาตลอดชีวิตนักร้องซึ่งเต็มไปด้วยแนวดนตรีและการเล่าเรื่องเนื้อหาอันหลากหลาย ความไม่ซ้ำซากนั้นอาจเข้าถึงนักฟังเพลงวงกว้างหลากรสนิยมเฉพาะตัวได้ไม่ยาก นั่นอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาได้รับความนับถือจากมืออาชีพในวงการมากหน้าหลายตาสั่งสมมาเรื่อย ๆ

ตัวอย่างที่อาจชวนให้ฉงนอาจเป็น Teddy Walton หนึ่งในโปรดิวเซอร์อัลบั้ม DAMN. ของ Kendrick Lamar (“ผมต้องทำงานกับพวกเขาให้ได้!” Walton ทวีตหลังแสดงความคิดเห็นว่าเพลง “Outro: Tear” ของ BTS คือหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุด), John Cena ผู้ได้กำลังใจจากอัลบั้ม Love Yourself ในช่วงเวลาอันยากลำบากของชีวิต

(“ไม่ใช่แค่ท่าเต้นและบุคลิกต่าง ๆ การแสดงของพวกเขาก็สุดยอดมาก คนรุ่นใหม่ฟังเพลงของเด็กหนุ่มเหล่านี้อยู่ พวกเขาถ่ายทอดข้อความอันงดงามผ่านทางดนตรี” ตำนานวงการมวยปล้ำแสดงความชื่นชมระหว่างการสัมภาษณ์ของเขาในรายการ The Late Late Show with James Corden)

และ Tennis วงอินดี้ป็อปอเมริกันซึ่งเปิดเผยว่าพวกเขาโหวต BTS ในช่วงเสนอรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล Grammys ประจำปี 2020 ในสาขาต่าง ๆ และรวมไปถึงอัลบั้มแห่งปีให้ Map of the Soul: 7 อันได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกจากหลายสำนักทั้ง Variety, Rolling Stone, NME และสื่อช่างสับอย่าง Pitchfork มาแล้ว

การได้ปรากฏตัวในรายการ Tiny Desk ของ NPR และ Live Lounge ของ BBC Radio 1 ซึ่งล้วนเป็นสถานีสาธารณะที่ไม่มีการแสวงหาผลกำไรนั้นอาจพอเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนข้อเท็จจริงในเรื่องความสามารถของพวกเขาอันเป็นที่เตะตาไม่ใช่แค่ในบรรดาติ่งเกาหลีหรือขาป็อป แต่ยังรวมไปถึงมืออาชีพที่เผยแพร่งานดนตรีเพื่อเชื่อมต่อผู้คนในวงกว้างยิ่งขึ้น

“ตัวเลือกตอนนี้มันขึ้นอยู่กับผมแล้ว คุณจะทำยังไงล่ะ?” (All Night – BTS)

Suga เอ่ยถามในบทเพลง “All Night” ซึ่งเขาและอีกสองเพื่อนสมาชิกวงสายแร็ปที่เหลือได้ร่วมงานกับ Juice WRLD ศิลปินผู้ล่วงลับ BTS ผ่านคำวิจารณ์มาหลากหลายทั้งในหมู่คนฟังเพลงเคป็อป สากล รวมไปถึงแฟนคลับรุ่นเก่าของวงเอง

“เดบิวต์มาก็เกือบทศวรรษแล้ว ถึงเวลาที่พวกเขาจะต้องโรยราแล้วถูกแทนที่ด้วยไอดอลรุ่นใหม่เสียที” แฟนเพลงเกาหลีทำนายถึงอนาคตของวง 7 ชิ้นจากความหวังและอคติส่วนตัว เป็นเรื่องเศร้าที่จะต้องบอกเสียงเหล่านี้ว่าคำพยากรณ์ดังกล่าวดูเป็นได้เพียงคำอธิษฐานเลื่อนลอยเท่านั้นในชั่วโมงนี้

“ก็แค่อีกหนึ่งผลผลิตอุตสาหกรรมเคป็อปที่เอาแต่ตักตวงผลประโยชน์จากติ่งไร้สติในยุคบริโภคนิยม” สาวกเพลงสากลตัวยงกลอกตาเมื่อได้ยินว่าพวกเขาคือบอยแบนด์จากประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียทวีปจากวิสัยทัศน์อันคับแคบ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่กลุ่มคนหัวสูงเหล่านี้อาจต้องพลาดสุนทรียภาพจากศิลปะในเนื้อเพลงซึ่งบางทีนั้นเล่าเรื่องได้มีมิติกว่าการพูดถึงรถหรู ทองคำแท้ ผู้หญิงและงานปาร์ตี้อย่างตรงไปตรงมา (อย่าง Dionysus” บทเพลงแร็ป/ร็อก/ซินธ์ป็อปอันสามารถนำลักษณะเด่นของเทพแห่งไวน์ในปกรณัมกรีกมาเล่าถึงความลุ่มหลงและมัวเมาในวงการมายา)

“นี่ไม่ใช่บีทีเอสที่ฉันเคยรู้จัก ตอนนี้พวกเขาร้องแต่เพลงป็อปลูกกวาดภาษาอังกฤษ” ผู้ติดตามรุ่นแรกรำลึกถึงอดีตด้วยความขุ่นหมองโดยอาจไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่าศิลปินไม่ควรถูกพันธนาการด้วยรอยเท้าในอดีตของตน อีกทั้ง 7 หนุ่มมีเพลงภาษาอังกฤษล้วนเพียง 3 เพลงเท่านั้นท่ามกลางแนวป็อป, ฮิปฮ็อป, แทร็ป, แดนซ์, ร็อก, คลาสสิก รวมไปถึงละตินซึ่งได้ทดลองสร้างสรรค์มาตลอดชีวิตการทำงาน (นอกจากนี้พวกเขายังแต่งและร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นล้วนอยู่ไม่น้อย จึงเป็นเรื่องน่าแปลกว่าทำไมเพลงภาษาอังกฤษเพียงจำนวนหยิบมือกลับสร้างความไม่พึงพอใจได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ามาก)

ไม่ว่าความคิดเห็นนิรนามบนโลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นอย่างไร บังทันโซนยอนดันมีวิธีตอกกลับคำวิจารณ์เหล่านั้นเสมอ นั่นคือการทำงานอย่างไม่รู้จักหยุดพักและสั่งสมไมล์จากการท่องไปบนเส้นทางแห่งความสำเร็จ พร้อมจรดปลายปากการังสรรค์ท่อนเพลงเพื่อให้เหล่าเฮทเตอร์มั่นใจว่าแม้พวกเขาจะเป็นบุคคลไร้ตัวตนในโลกนี้ คำก่นด่านับไม่ถ้วนกลับกลายเป็นวัตถุดิบเพลงโกรธชั้นดี— บางทีบุคคลไร้นามเหล่านั้นก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว

ความเกลียดชังต่าง ๆ นั้นเองที่เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงคอยเติมไฟให้ BTS ทะยานไปได้แรงกว่าเดิม

“ชอบจริง ๆ แอร์เพลนโหมดเนี่ย สกัดกั้นความกังวลใจออกไปได้หมด
ไม่ว่าใครจะพล่ามอะไร ผมก็แค่จะก้าวต่อไป
แล้วมองท้องฟ้ายามค่ำจากที่นั่งชั้นหนึ่งซึ่งผมคู่ควร”
— J-hope ในเพลง “Airplane” และ “Airplane, Pt. 2”

อ้างอิงข้อมูลจาก

“PROFILE | BTS”. BIGHIT MUSIC.
“Who Is John Cena’s Favorite BTS Member?”. The Late Late Show with James Corden.
“Why BTS Runs the World”. The Wall Street Journal.
“K-pop is changing, too”. The Economist.
“All the biggest talking points from BTS’ global press conference: Jungkook’s missing mixtape, Suga’s next prophecy, and the meaning behind ‘Map Of The Soul: Persona’”. NME.
“How BTS’ ‘Dionysus’ Demonstrates the Group’s Musical Ambition”. Billboard.
“BTS’ ‘Map of the Soul: 7’: Album Review”. Variety
“BTS Ambitiously Show off Their Pop Mastery On ‘Map of the Soul: 7’”. Rolling Stone.
“BTS – ‘Map Of The Soul: 7’: Korea’s global heavyweights come of age and survey their already enormous legacy”. NME.
“BTS: Map of the Soul 7: Album Review”. Pitchfork.

บทความเกี่ยวกับ BTS อื่นๆ >>>>> BTS Albums

เว็บไซต์อื่นๆน่าสนใจ >>>>> เว็บดูบอลสดฟรี

>>>>> UFABET